28 สิงหาคม 2520 … 42 ปี …

28 สิงหาคม 2520 … 42 ปี เมืองพะเยา
ร้อยเรื่องเมืองล้านนา
อาณาจักรภูกามยาว…ตำนานการสร้างเมืองพะเยา

พะเยาเป็นจังหวัดเล็ก ๆ จังหวัดหนึ่งซึ่งแยกตัวออกมาจากจังหวัดเชียงราย เดิมเป็นเพียงอำเภอรอบนอกหลาย ๆ อำเภอของเชียงรายก่อนที่จะรวมตัวกันตั้งขึ้นเป็นจังหวัดพะเยา

เมืองพะเยาเคยเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่ครั้งอดีตกาล จะเห็นได้จากซากของสิ่งก่อสร้างซึ่งปรากฏตามโบราณสถานต่าง ๆ ในเมืองพะเยา บางแห่งก็ได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ แต่บางแห่งยังคงถูกทิ้งไว้ให้ทรุดโทรม โบราณสถานและโบราณวัตถุที่พบในจังหวัดพะเยาล้วนแสดงถึงความเจริญทางด้านศิลปกรรมของเมืองพะเยได้เป็นอย่างดี ศิลปวัตถุที่พบในเมืองแห่งนี้ถูกเรียกว่า ศิลปสกุลช่างพะเยา

หากย้อนกลับไปในอดีต จะพบว่าพะเยาเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีความสำคัญมาก่อนสมัยสร้างเมืองเชียงใหม่ คือก่อน พ.ศ.1839 มีชื่อเดิมว่า “ภูกามยาว” ตามตำนานเมืองพะเยาเขียนว่าสร้างขึ้นโดยขุนศรีจอมธรรม ราชบุตรขุนลาวเงิน หรือ ขุนเงินเจ้าผู้ครองนครเงินยางเชียงแสน ขุนลาวเงินมีราชโอรส 2 องค์คือ ขุนชินและขุนศรีจอมธรรม เมื่อพระโอรสทั้งสององค์ทรงเจริญวัย ได้โปรดให้โอรสองค์แรกครองเมืองนครเงินยางเชียงแสน ส่วนองค์ที่สองคือขุนศรีจอมธรรมได้ทรงแบ่งพระราชทรัพย์และกำลังไพล่พลส่วนหนึ่งให้ไปสร้างเมืองใหม่ ขุนศรีจอมธรรมซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุ 25 พรรษา จึงได้นำกำลังพล ช้าง ม้า เดินทางจากเมืองนครเงินยางเชียงแสนมาทางทิศใต้ รอนแรมมาถึง 7 คืน ถึงเมืองเชียงมั่น (บริเวณบ้านกว๊านในปัจจุบัน) ได้พบเมืองร้างแห่งหนึ่งปลายเทือกเขาด้วน ทรงเห็นมีชัยภูมิเหมาะที่จะสร้างบ้านสร้างเมือง จึงหักร้างถางพงแล้วสร้างเมืองขึ้นตามคำแนะนำของปุโรหิตาจารย์ ที่ว่าเป็นบริเวณมงคล เคยเป็นเมืองเก่ามีคูเมืองล้อมรอบและมีประตูเมืองอยู่ 8 ประตูอยู่ก่อนแล้ว ขุนศรีจอมธรรมทรงตั้งบายศรีอัญเชิญเทวดาตามราชประเพณี ทรงฝังเสาหลักเมืองขึ้น ฝังแก้ว เงิน ทองและปลูกต้นไม้ประจำเมือง สร้างเมืองเสร็จเมื่อปี พ.ศ.1638 โปรดให้เรียกชื่อเมืองแห่งนี้ว่า “ภูกามยาว” อันมีความหมายถึงเมืองที่ตั้งอยู่บนเนินเขาที่มีสันยาว

ขุนศรีจอมธรรมครองเมืองภูกามยาวสืบต่อมาจนมีผู้สืบราชวงศ์อีก 9 รัชกาล จนถึงสมัยพญางำเมือง ราวพุทธศตวรรษที่ 18 พญางำเมืองเป็นราชบุตรขุนมิ่งเมือง ได้ขึ้นครองราชเป็นกษัตริย์ปกครองเมืองภูกามยาวต่อจากพระราชบิดา พญางำเมืองทรงปกครองเมืองภูกามยาวให้มีความเจริญรุ่งเรือง จนมีฐานะเป็นเมืองเอกเรียกว่า “อาณาจักรพยาว” ในสมัยนั้นมีหัวเมืองเอกอยู่ 3 เมือง คือ อาณาจักรสุโขทัย มีพ่อขุนรามคำแหงเป็นกษัตริย์ อาณาจักรเมืองไชยนารายณ์ (เชียงราย) มีพญามังรายเป็นกษัตริย์ และอาณาจักรภูกามยาว มีพญางำเมืองเป็นกษัตริย์ กษัตริย์ทั้ง 3 พระองค์ทรงมีความสัมพันธ์ไมตรีอันดีต่อกัน และได้ทำสัตย์ปฏิญาณสาบานตนว่าจะซื่อสัตย์ต่อกันจนตลอดชีวิต เมื่อพญางำเมืองเสด็จสวรรคต พญาคำลือราชโอรสก็ได้ขึ้นครองราชย์แทน

เมืองภูกามยาว ผ่านยุคสมัยของเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ มากมาย ครั้งหนึ่งพญาคำฟู ราชวงศ์มังรายแห่งเมืองไชยนารายณ์ได้ชักชวนพญากาวแห่งเมืองนันทบุรี(น่าน) ยกกองทัพเข้าตีเมืองพยาวจนพังพินาศ หลังจากนั้นอาณาจักรภูกามยาวหรือพยาว ก็ตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรไชยนารายณ์ (เชียงราย) เรื่อยมา ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 หัวเมืองต่าง ๆ ในล้านนาถูกเปลี่ยนให้มีฐานะเป็นจังหวัดขึ้นต่อกระทรวงมหาดไทย เมืองเชียงรายได้เปลี่ยนเป็นจังหวัดเชียงรายและเมืองพยาวได้กลายเป็นอำเภอพะเยา อยู่ในการดูแลของจังหวัดเชียงราย

ในปี พ.ศ.2520 มีการออกพระราชบัญญัติตั้งจังหวัดพะเยา ทำให้อำเภอพะเยามีฐานะเป็นจังหวัดพะเยาเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2520 โดยมีนายสัญญา ปาลวัฒน์วิไชย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาคนแรก

การดำเนินชีวิตโดยทั่วไปของชาวพะเยาก็มีลักษณะคล้ายกันคนเมืองในล้านนา คือนิยมรับประทานข้าวเหนียวนั่งล้อมวงขันโตก อยู่บ้านใต้ถุนสูงสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง ตามชนบทยังคงพบเห็นหญิงสาวที่นุ่งผ้าซิ่น ผู้ชายนุ่งเตี่ยวสะดอ กลุ่มชนพื้นเมืองส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดพะเยาได้แก่ชนชาวไทลื้อ ที่อพยพมาจากสิบสองปันนาทางตอนใต้ของจีนเมื่อราว 200 ปีก่อน

โบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญและถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวพะเยานับถือได้แก่ วัดศรีโคมคำ หรือ วัดพระเจ้าตนหลวง วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเชียงแสนที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ ภายในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์เก็บวัตถุโบราณ ศิลาจารึกต่าง ๆ ของจังหวัดพะเยาเป็นจำนวนมาก และมีรอยพระพุทธบาทคู่จำลองซึ่งจำหลักเป็นลายเส้นบนหินมีลักษณะลวดลายประจำยามร้อยแปดภายในพระบาท

วัดศรีอุโมงค์คำ เป็นวัดที่มีพระเจดีย์สมัยเชียงแสน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปพระเจ้าล้านตื้อ หรือ หลวงพ่องามเมืองเรืองฤทธิ์ พระเจ้าล้านตื้อได้ชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปสกุลช่างพะเยาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะนับว่าเป็นพระพุทธรูปที่งดงามที่สุดองค์หนึ่งในล้านนา

นอกจากนั้นยังมีโบราณสถานเก่าแก่ของเมืองพะเยาซึ่งพบเห็นได้ที่วัดป่าแดง ภายในมีมูลดินเป็นซากวิหาร ซากแนวกำแพงและซากเจดีย์ มีองค์ประกอบแบบสุโขทัย 1 องค์ และยังได้มีการค้นพบศิลาจารึกที่บริเวณซากเจดีย์ ซึ่งจารึกว่าวัดนี้ชื่อว่า วัดพญาร่วง จารึกบนศิลาเมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ 21 จากการสันนิษฐานของนักโบราณคดีคาดว่า วัดป่าแดงน่าจะสร้างขึ้นในสมัยของพญายุษฐิระ เจ้าเมืองพิษณุโลกที่อพยพมาอยู่กับฝ่ายล้านนา และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองพะเยา

พระธาตุแจ้โว้ มีลักษณะทางศิลปกรรมแบบพื้นเมืองล้านนาที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะลักษณะส่วนยอดของเจดีย์มีกลุ่มบัวซึ่งแสดงลักษณะเฉพาะที่พบมากในเมืองเชียงแสน นับเป็นโบราณสถานเก่าแก่แห่งหนึ่งที่มีคุณค่าแก่การศึกษาถึงอดีตของอาณาจักรภูกามยาว

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
jakrapong@chiangmainews.co.th