นกกวัก White-breasted Waterhen

Photographer : © Choy Wai Mun

 

ชื่อสามัญ ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อไทย การรายงาน สถานภาพตามฤดูกาล
White-breasted Waterhen Amaurornis phoenicurus นกกวัก A R, N

นกกวัก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Amaurornis phoenicurus) เป็นนกน้ำขนาดเล็กในวงศ์นกอัญชัน (Rallidae) ที่อยู่กระจายไปทั่วเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ มีสีเทาเข้มเหมือนกระดานชนวน ลำตัวสั้น มีใบหน้า อก และท้องขาว ขาและนิ้วยาว อาศัยอยู่ตามหนองน้ำ ระวังตัวน้อยกว่านกอัญชันชนิดอื่น ๆ จึงมักเห็นก้าวเท้าอย่างช้า ๆ ยกหางตรง ไปในหนองน้ำโล่งหรือแม้แต่ที่ระบายน้ำใกล้ ๆ ถนนที่มีรถวิ่ง มักออกหากินในช่วงฟ้าสางหรือพลบค่ำ เดินหากินบนใบพืชน้ำ เช่น บัว จอก แหน ในฤดูผสมพันธ์คือฤดูฝนหลังเริ่มฝนตก ก็จะร้องเสียงดัง “กวัก ๆ” เป็นเสียงต่ำซ้ำ ๆ

ลักษณะทั่วไป

นกกวักที่โตแล้วโดยมากมีสีเทาเข้มด้านบนและข้าง ๆ มีหน้า คอ อก และท้องขาว ท้องด้านล่าง ๆ และใต้หางมีสีน้ำตาลเหลือง ข้าง ๆ ตัวจะเรียบเพื่อให้เดินผ่านต้นอ้อ ต้นกก หญ้า และพุ่มไม้ไปง่าย ๆ มีขาและนิ้วยาว หางสั้น ปากและขาเหลือง ตัวผู้ตัวเมียคล้าย ๆ กัน ตัวเมียเล็กกว่าเล็กน้อย ลูกนกมีสีจางกว่า ลูกนกที่ขนยังปุยมีสีดำเหมือนกับนกอัญชันทั้งหมด

เสียงร้อง

นกกวักมีเสียงร้องที่ไพเราะ เสียงร้องเป็นทำนองต่ำ ๆ “กวัก ๆ” มักร้องติดต่อกันหลายครั้ง

พฤติกรรม

นกกวักเป็นนกที่หากินกลางวัน กินแมลงเป็นอาหารหลัก รวมไปถึงพืชน้ำขนาดเล็ก เมล็ดพืช และสัตว์ขนาดเล็กอื่นๆ

นกกวักเป็นนกที่ชอบอาศัยอยู่ตามชายป่า ป่าละเมาะ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำ มักพบหากินเป็นคู่หรือเป็นฝูงขนาดเล็ก

สถานภาพ

นกกวักเป็นนกประจำถิ่นพบบ่อยและปริมาณปานกลาง พบได้ทั่วประเทศไทย นกกวักเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535







A : นกที่มีรายงานพบตามธรรมชาติในระยะ 50 ปีที่ผ่านมา

B : นกที่ไม่มีรายงานพบในธรรมชาติเป็นเวลาอย่างน้อย 50 ปี

C : นกต่างถิ่นที่ถูกนำเข้ามาในประเทศไทย และสามารถปรับตัวให้อาศัยและขยายพันธุ์ได้เองในธรรมชาติ

D : นกที่พบในธรรมชาติแต่อาจเป็นนกที่หลุดจากกรงเลี้ยง

E : นกที่มีรายงานพบในอดีต แต่อาจเป็นการจำแนกชนิดผิดพลาด

F : นกที่เป็นประชากรผสมข้ามสายพันธุ์ และยังไม่มีรายงานของประชากรที่มีลักษณะแท้ตามชนิดดั้งเดิม

 

สถานภาพตามฤดูกาลของนกแต่ละชนิด

R : นกประจำถิ่น

N : นกที่อพยพเข้ามาช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ (ฤดูหนาว)

B : นกที่อพยพเข้ามาทำรังวางไข่

P : นกอพยพผ่านช่วงฤดูใบไม้ผลิ และฤดูใบไม้ร่วง

V : นกพลัดหลง มีรายงานไม่เกิน 3 ครั้ง


ขอบคุณข้อมูลภาพถ่ายจาก https://ebird.org
ขอบคุณข้อมูลการกระจายพันธุ์และเสียงร้องจาก https://ebird.org

 

ใส่ความเห็น